วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ชีวิตไม่ฉาบฉวย (5)



ตอนที่แล้ว ผมสัญญาว่าจะเล่าเรื่องคนที่ใช้ชีวิตแบบ “ฉาบฉวย” ให้ฟังใช่ไหมครับ? ....คน ๆ นั้นก็คือ “ตัวผมเอง”
ผมไม่ต้องทบทวนอะไรมากก็จำได้เลยว่าในตอนเด็กผมค่อนข้างเป็นคนมีฐานะ..
คือฐานะ “ยากจน”
และก็อยู่ในครอบครัวที่มีความรู้
ก็คือมีความรู้ “น้อย” 

จริง ๆ ฐานะตอนเกิดก็ไม่ได้วัดความสำเร็จตอนโต และความรู้น้อย ก็ไม่ใช่จะทำให้คนไม่ประสบความสำเร็จ
มีคำเขาพูดถึงความยากจนไว้เป็นวลีคล้องจองกันว่า “ยากจน..ทนทุกข์” จริง ๆ แล้วผม “จน” เฉย ๆ ครับ ไม่ได้ “ยากจน” เนื่องจากเพราะมันไม่ได้ “ยาก” อย่างที่ควรจะเป็น สาเหตุที่ไม่ยาก ก็เพราะมันชิน นั่นเอง...แล้วอีกอย่างก็ไม่ได้ “ทนทุกข์” เพราะมันไม่ได้ต้อง “ทน” สาเหตุก็เพราะมันชิน อีกนั่นแหละ
หลายสิบปีที่ผ่านมา ผมรู้สึก “ขอบคุณ” ชีวิตตัวเองมากเลยที่เกิดมาในลักษณะแบบนั้น ซึ่งก็เพราะมันเป็นแบบนั้น ผมถึงได้เป็น “แบบนี้” ในปัจจุบัน 
ถ้าจะถามว่า “จน” ขนาดไหน? คำตอบก็คือ ขนาดที่พ่อแม่ คิดว่าคงไม่มีปัญญาจะเลี้ยงให้ดีได้ เลยต้องขนเอาทั้งผม ทั้งพี่น้อง รวม 3 คน ไปอยู่กับญาติที่แปดริ้ว (เป็นชื่อเล่นที่เขาเรียกอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา) ช่วยเลี้ยง (ผมเกิดฝั่งธนฯ...คนสมัยนี้บอก “ฝั่งธนฯ” ไม่รู้จะเข้าใจหรือเปล่า?)
ก่อนที่ผมจะคิดเป็น ผมยังเคยคิดน้อยใจที่ทำไมพ่อแม่ ถึงเสือกใสไล่ส่งให้พวกผมพี่น้อง ไปอยู่ต่างจังหวัดกับญาติที่ไม่รู้จักมาก่อน วันที่พ่อพาพวกผมย้ายออกไป ผมมีความรู้สึกเหมือนหัวใจสลายไปแล้ว ตอนนั้นผมอายุได้ประมาณ 8 ขวบ, พี่สาวกับน้องสาว ห่างจากผมคนละ 2 ปี ไล่กัน สามคนพี่น้อง ต้องย้ายไปอยู่กับคนที่ไม่ใช่พ่อแม่ตั้งแต่เล็ก ๆ ....ก็เพราะตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่า นั่นเป็นทางเดียวที่ “ลูกสามคน” ของพ่อ จะได้มีที่กิน, ที่นอน, ที่สำคัญที่สุด คือได้มีโอกาสเรียนหนังสือทั้ง 3 คน...เดี๋ยวมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ
ผมอยากจะเล่าย้อนให้ฟังว่า(ยังกะหนังซีรีส์เกาหลี).... ก่อนหน้าที่พวกผมสามพี่น้อง จะถูกจับย้ายออกไปจากฝั่งธนบ้านเกิด ไปอยู่แปดริ้วกับญาติ ก่อนนั้นประมาณ 2-3 ปี แม่ก็หายออกจากบ้านไป ตอนนั้นผมก็ไม่รู้เหตุผล เพิ่งมารู้ตอนโตแล้วว่า ด้วยความจน และมีลูกหลายคน แม่ได้ตั้งกระทู้ถามพ่อที่เป็น “ช่างตัดผม” ว่า ลูก 3 คน วางแผนอนาคตให้ลูกยังไง?....จริง ๆ แล้ว พ่อเป็นคนรักครอบครัว แต่ด้วยความตีบตื้อด้วยฐานะอาชีพ เลยไม่รู้จะตอบแม่ยังไง....แม่ก็เลยต้องหาทางเอาเอง ด้วยการออกไปหาทำงานนอกบ้าน เพื่อว่าจะได้ช่วยเรื่องเศรษฐกิจของครอบครัวอีกแรงหนึ่ง....นี่ถือเป็นวิสัยทัศน์ของ “แม่” ที่มีอายุเพียงยี่สิบต้น ๆ ที่รักลูก และไม่ยอมเป็นเหยื่อของชะตากรรม (เป็นวิสัยทัศน์ของผู้หญิงสาวตัวเล็ก ๆ ที่มีความรู้แค่ชั้นประถม แต่วันหนึ่งในอนาคต จะได้เป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจมูลค่า 300 ล้านบาท....)
แต่ปรากฏว่า วิสัยทัศน์ของแม่ตอนนั้น กับครอบครัวของพ่อ มันเป็นคนละขั้ว เพราะแม่แต่งงานเข้ามาในครอบครัวพ่อ ตอนนั้นมีปู่, ย่า, อา, ลุง ฯลฯ อยู่ด้วยหลายคน ซึ่งการที่สะไภ้ออกจากบ้านไปทำงานนอกบ้าน โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ในบ้านก่อน ถือเป็น “ความผิด” เหมือนเป็นความคิดที่ “นอกคอก”, “กบฎ” ฯลฯ ดังนั้น แม่จึงโดนรุมว่า รุมประนาม จนที่สุดก็ไม่สามารถอยู่ต่อเป็นครอบครัว พ่อ, แม่, ลูก ได้ แม่จึงขอพ่อว่าจะออกไปเผชิญโลกกว้าง เพื่อหาทางช่วยลูกสามคนอยู่ข้างนอกวัง ....ไม่ใช่ นอกบ้าน ให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เติบโตอย่างไร้ความหวังอย่างที่เห็น ๆ อยู่ในตอนนั้น ซึ่งพ่อก็หมดทางทัดทานแม่ สาเหตุก็เพราะไม่สามารถหา “คำตอบ” ให้กับคำถามของแม่ ถึงอนาคตของลูกทั้งสามคนได้.....เมื่อเป็นแบบนั้น ผมจึงกลายเป็นเด็กใน “ครอบครัวแตกแยก” พ่อไปทาง, แม่ไปทาง, ลูกไปอีกทาง
จริง ๆ แล้วผมก็แปลกใจความคิดตัวเองมากเลย ที่ทำไมหนอ? แม้จะร้องไห้เสียใจทุกวันตอนนั้น แต่ก็ไม่ได้ตกตะกอนเป็นความเกลียดชังในชะตากรรม, ไม่ได้โกรธพ่อแม่, ไม่ได้น้อยใจที่ถูกทิ้ง ฯลฯ ความคิดลบ ๆ แบบนั้นไม่ได้เข้ามาในสมองผมเลยแม้แต่นิดเดียว....แม้ว่าตลอด 10 ปีเต็ม ๆ ที่ผมอาศัยอยู่กับญาตินั้น จะมีคำพูดส่อเสียด, ด่าทอ, ประณาม, แม้แต่ด่าว่า ให้กับแม่เข้าหูผมตลอดเวลาว่า ผมมีแม่ที่ไม่รักลูก, ไม่รักครอบครัว, เห็นแก่ตัว ฯลฯ สารพัด แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้ผมเกลียด, โกรธ แม่ได้เลย ทุก ๆ วันก็เฝ้าแต่รอว่า เมื่อไหร่แม่จะมาเยี่ยม ซึ่งนาน ๆ ทีประมาณปีละครั้งสองครั้ง แม่ก็จะมาเยี่ยม ทุกครั้งก็จะเอาขนมอร่อย ๆ ผลไม้ดี ๆ มาฝาก แต่ก็ไ่ม่เคยอยู่ค้างกับพวกผม เพราะแม่มาหาทีไร ก็ต้องถูก “ญาติ” บ่น, ด่า, กระแนะกระแหน จนร้องไห้กลับไปทุกครั้ง และเมื่อแม่กลับ ผมก็จะต้องนอนร้องไห้คิดถึงแม่ไปอีกเป็นอาทิตย์ ๆ ทุกครั้งเช่นเดียวกัน
สำหรับพ่อนั้น ผมก็ได้ซืมซับถึงความสม่ำเสมอในความรักที่มีต่อลูก เพราะหลังจากพ่อพาพวกผมไปอยู่กับญาติ พ่อจะมาเยี่ยมทุกวันอาทิตย์ไม่เคยขาด พวกผมจะไปตั้งแถวรอพ่อที่สถานีรถไฟ ตอนเห็นพ่อลงจากรถไฟ ก็แข่งกันสามพี่น้องร้องเรียก แล้ววิ่งไปรับของฝาก พาพ่อเข้าบ้าน ซึ่งของฝากของพ่อก็จะเป็นอาหารดี ๆ และขนมอร่อย ๆ ทุกครั้ง วันจันทร์ตอนเช้ามืด พ่อก็จะนั่งรถไฟกลับ ผมก็ร้องไห้คิดถึงเหมือนเดิม...เป็นอย่างนี้ตลอด 10 ปี พ่อไม่เคยขาด ไม่เคยป่วย .....เมื่อผมรู้ความ และได้ย้อนคิดไปถึงหัวอกพ่อ ตอนที่จำใจยอมให้แม่จากไป พ่อคงจะหัวใจสลาย พ่อคงเป็นทุกข์มากเพราะผมรู้ว่าพ่อรักแม่มาก ยิ่งตอนที่ต้องพาพวกผมออกไปอยู่ที่อื่น เพราะต้องคิดถึงอนาคตของลูก พ่อก็คงทำใจอยู่นาน และที่ผมบอกว่าผมหัวใจสลายเพราะถูกพ่อพาไปอยู่ที่อื่นนั้น ผมคิดแล้วพ่อคงจะมีความทุกข์มากผมร้อยเท่าพันเท่าตอนนั้น....

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ชีวิตไม่ฉาบฉวย (4)


        อย่างที่ได้บอกว่าจะขอยกตัวอย่างชีวิตที่ “ฉาบฉวย” ซึ่งเป็นคนจริง ๆ ที่ผมรู้จัก แต่ขอสงวนชื่อจริง บุคคลตัวอย่างเหล่านี้ผมขอตั้งชื่อสมมติขึ้นมา (อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคคลตัวอย่างที่ล่วงลับแล้ว ก็ขออุทิศส่วนกุศลที่ผมได้นำเอาวีถีชีวิตมาเล่าเพื่อเป็นข้อคิดให้กับคนรุ่นหลัง ขอให้กุศลนี้ดลบันดาลให้บุคคลเหล่านี้ไปสู่สุขคติด้วยเถิด)
“สมชาย” เป็นญาติที่ใกล้ชิดกับผมมาก เขาเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองเล็กน้อย (แปลว่าอายุมากกว่าผมเยอะเลย) สมชาย เป็นอีกคนที่ผมรู้จักที่ “ไม่ยอมแก่” ไม่ใช่เพราะรักษาตัวเองได้ดีจนไม่แก่นะครับ....
ผมเคยหยอดมุกเสมอ ๆ ตอนบรรยายว่า “ใครไม่อยากแก่?” ปรากฏว่ายกมือกันสลอน ผมก็จะยกตัวอย่างคุณสมชายนี่แหละ ผมบอกว่ามีคนหนึ่งที่ไม่ยอมแก่ เพราะแก “ตาย” ตั้งแต่ยังหนุ่ม ๆ (ดังนั้นถ้าไม่อยาก “แก่” ก็ “ตาย” ซะก่อนนั่นเอง) ทีนี้พอถามใหม่ว่า ระหว่าง “อยากตาย” กับ “อยากแก่” เลือกอะไร? ที่ประชุมก็ร้อง “อยากแก่” กันหมดเลย ฮ่า ๆ ๆ ๆ (จริง ๆ คิดกันให้ดี ๆ นะครับว่า...สิ่งที่ปรารถนาสูงสุดของเราคืออะไร ผมว่าคือ อยากมีเวลามีชีวิตอยู่ให้นาน ๆ ซึ่งก็หมายความว่าไม่อยากอายุสั้น ตรรกของความหมายก็คือ คนเราทุกคน “อยากแก่” กันหมดจริงไหมครับ?)
จริง ๆ คุณสมชายแกไม่ได้ตายธรรมดา ๆ ครับ เพราะแกยิงศีรษะตัวเองตาย สาเหตุคือเมา แล้วเอาปืนที่เพื่อนฝากไว้ออกมาเล่น พี่สาวของแกก็เข้าไปห้ามจะขอปืน แกก็เลยยกขึ้นมาจ่อหัวหยอกพี่สาว ปรากฏว่าปืนลั่นโป้ง คุณสมชายเลยตายคาที่ (ตอนอายุสี่สิบต้น ๆ เท่านั้นเอง) 
คุณสมชาย เป็นน้องสุดท้อง มีพี่ 7 คน หน้าตาหล่อระดับพระเอกหนังสู้ไม่ได้ ผิวขาว รูปร่างดี แต่ความเป็นลูกคนเล็กสุด เลยติดนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ขี้โมโห เรียนจบมาก็ทำงานแบบไม่อดทน เปลี่ยนงานทุกปีเว้นปี (ชอบเมาทะเลาะกับนาย) จนอายุ 40 ก็เลยวัยที่จะหางานใหม่ เพราะไปสมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เคยค้าขายก็ขาดทุน (ผมก็เคยเสียเงินให้แกเป็นหมื่นเพราะมาร้องไห้ขอทุนไปค้าขาย ผมใจอ่อนให้ไป..ไม่ต้องบอกก็คงรู้นะครับว่าไม่ได้เงินคืน) สุดท้ายไปขออาศัยพี่สาว แบบว่าจะขอช่วยทำงานแลกที่อยู่ที่กิน แต่ก็ติดเหล้างอมแงม งานการก็ไม่ได้ช่วยอะไรเป็นเรื่องเป็นราว พี่สาวแกก็บ่น, ด่า ทุกวัน แกก็เมาทุกวัน (คิดว่าเมาแล้วจะหนีปัญหาได้) ที่สุดก็ตายแบบไม่ได้แก่อย่างที่เล่า
“ป้าทอง” เป็นคนธรรมะธรรมโม ทั้งชีวิตไม่เคยเบียดเบียนใคร มีน้องหลายคน เลี้ยงน้องจนโต น้องมีลูก น้อง ๆ ก็เอาลูกมาโยนให้เลี้ยงอีก ตัวเองเลยไม่มีเวลาแม้แต่หาสามีสักคน ป้าทองแกเลยเป็นโสด ใช้ น.ส. นำหน้าตลอดชีวิต แกมีอาชีพค้าขายทั้งชีวิตจนแก่ เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งไม่มากนัก (ไม่รวยทั้ง ๆ ที่น่าจะรวย) ก็หมดแรงพอดี ความที่ทำแต่งานไม่ได้ดูแลตัวเอง เลยป่วยเป็นอัมพาตอยู่เป็นปี ๆ ก่อนตายยกเงินก้อนสุดท้ายประมาณห้าแสนกว่าบาท ให้น้องชายคนหนึ่งดูแล กะว่าน้องคนนั้นจะดูแลแกจนหมดลม น้องชายก็ดีมาก เจียดเงินของพี่ซื้ออาหารให้พี่วันละ 40 บาท (กลัวเงินหมดพี่ยังไม่ตายต้องควักกระเป๋าเอง) ตอนป้าทองตาย เงินยังเหลืออีกเป็นแสน ทั้งทองหยองทั้งพระเครื่องดี ๆ น้องชายคนนั้นยึดเอาหมด คำขวัญของป้าทองที่แกพร่ำสอนน้อง ๆ หลาน ๆ ทุกวันซ้ำแล้วซ้ำอีกคือ “คนเราเกิดมาวาสนามันจะจน..ทำยังไง ๆ มันก็จนจนตายน่าแหละ”
“ลุงยันต์” เป็นคนสมองดีตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาเรียนหนังสือไม่เคยตั้งใจเรียนกับใคร แต่ตอนสอบได้ที่ 1 ทุกที แม้ไม่ตั้งใจก็ยังเรียนจนจบมัธยม แต่แล้วแกก็ไม่เรียนต่อดี ๆ เพราะคิดว่า ไม่ต้องเรียนสูงก็เอาตัวรอดได้ ตอนหนุ่ม ๆ แกไปเป็นทหาร ก็เรียนเสนารักษ์ได้เป็นหมอทหาร ออกจากทหารมีเมียมีลูก ก็เลิกกัน สุดท้ายทำอาชีพช่างตัดผม แล้วก็รับจ้าง “ฉีดยา” แบบหมอเถื่อนให้คนในละแวกบ้าน (พวกมาให้ฉีดยาคงคิดว่ามันถูกกว่าไปหาหมอจริง ๆ) ต่อมาก็เบื่อทำงาน ไปขออาศัยน้องชายอยู่ไปวัน ๆ โดยได้เงินจากการ “ฉีดยา” และซื้อขายฝิ่น (ตัวเองก็ติดฝิ่น) ....อยู่กับน้องชาย จนน้องชายเสียชีวิตไปแล้ว ก็ไปขออยู่กับพี่สาวอีกคน พี่สาวใจดีแบ่งที่ทางให้อยู่พอคุ้มหัวนอน...ต่อมาพี่สาวก็เสียชีวิตไปอีก แปลกแต่จริงที่แกอายุยืนจังเลย ไม่มีเมีย, ไม่มีลูก, ไม่มีญาติ, ไม่มีงาน, ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรสักอย่าง อายุมากเข้า เดินก็ไม่ค่อยไหว วันไหนมีแรงเดินก็เดินไปขอข้าววัดกินไปวัน ๆ วันไหนเดินไม่ไหวก็อด ปกติแกเป็นคนไม่มีใครคบ เพราะนิสัยเข้ากับใครก็ไม่ได้ ตอนแก่ใกล้ตายเลยไม่มีใครคอยช่วยเอาข้าวน้ำให้เอาบุญสักคน สุดท้ายมีคนไปเห็นว่าแกหมดลมไปแล้ว ก็ไม่มีใครจัดงานศพให้ ต้องเป็นธุระของปอเต็กตึ้ง (อันที่จริงในละแวกนั้น ยังมีน้องชายแท้ ๆ อยู่แถวนั้น แต่น้องชายและญาติคนอื่นไม่สนใจจะทำศพให้เลย แปลกมาก ๆ) ตลอดชีวิตแกมีคติประจำใจว่า “เกิดมาชาตินี้จะเหนื่อยทำงานไปทำไม อยู่เฉย ๆ ก็ไม่เห็นอดตาย”...จริง ๆ มีคนสัณนิษฐานว่า สาเหตุที่แกตายก็เพราะ “อดตาย” นั่นเอง
“นายทิด” เคยบวชสองครั้ง ครั้งแรกแป๊บเดียวสึก ครั้งที่สองแปดพรรษา สมองดีมากเพราะท่องปาฏิโมกได้ตั้งแต่บวชครั้งแรก นายทิดตอนนี้ยังไม่ตายครับ แต่ชีวิตน่าศึกษา เด็ก ๆ พ่อแม่เลิกกัน วัยรุ่นเลยเกเร เมา, เที่ยว, ตีกัน และสุดท้ายก็ “ติดยา” เลยจากวัยรุ่นมาแล้ว ก็โดนคดีติดคุก เข้า ๆ ออก ๆ 
คอยอ่านตอนต่อไปนะครับ บทความนี้อาจเป็น “หนังสือ” ขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้ ...ตอนหน้ามีตัวอย่างคนที่ใช้ชีวิต “ฉาบฉวย” มาเล่าอีกครับ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชีวิตไม่ฉาบฉวย (3)


ผมเชื่อว่า “ชีวิตฉาบฉวย” คือชีวิตที่ถูกปล่อยตามบุญตามกรรม
ผมขออนุญาตครับ เนื่องจากผมนับถือศาสนาพุทธ สิ่งที่ผมเชื่อและใช้เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติกับชีวิตนั้น แน่นอนว่ามาจากคำสอนในพระพุทธศาสนา สิ่งที่ต้องขออนุญาตคือขอใช้หลักศาสนานี้เป็นแนวทางตลอดข้อเขียน 
อย่างไรก็ตามผมก็เชื่อว่า ทุกศาสนาก็สอนวิธีให้คนพ้นทุกข์ และสามารถประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน
สมัยผมเด็ก ๆ ในครอบครัวที่ผมเติบโต ผมมักได้ยินคำสอนแบบที่ว่า “คนเรานี่นะ มันอยู่ที่วาสนา ถ้าวาสนามันจะรวยมันก็รวย ถ้าไม่มีวาสนาจะพยายามเท่าไหร่มันก็จน” ผมต้องขอบคุณตัวเองมากเลยที่คำสอนแบบนั้น ไม่ได้ซึมทราบเข้าสมองผมเท่าไดนัก
“แล้วผมไม่เชื่อเรื่องกรรมหรือไง?”
ผมเชื่อครับ ก็ผมเป็นพุทธ ผมก็ต้องเชื่อเรื่องกรรมเป็นของธรรมดา
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี่คือเรื่องที่ผมเชื่อ แต่ถ้าจะมาบอกว่า “พรหมลิขิตมาให้รวย หรือลิขิตมาให้จน ถ้าวาสนาไม่มีก็ไม่มีทางรวย...” แบบนี้ผมไม่เชื่อครับ
เรื่องชาติเรื่องภพ ผมก็เชื่อ (เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนมา ปรากฏอยู่ในพระไตรปีฎก) ดังนั้นผมก็เชื่ออีกว่า ถ้าชาติก่อนทำบุญมาเยอะ ก็ส่งผลบุญมาถึงชาตินี้ด้วย (เขาเรียกเกิดมาเสวยบุญ) ตรงกันข้าม ถ้าชาติที่แล้วทำบาปเยอะ ชาตินี้ก็ต้องลำบาก เพราะต้องเกิดมาชดใช้กรรมเก่ามากหน่อย (เรียกว่าเกิดมาใช้กรรม) สังเกตว่าถ้าเป็นคนรวยตายจะพูดว่า “หมดบุญ” แต่ถ้าเป็นคนจนคนทุกข์ตายไป ก็จะพูดกันว่า “หมดกรรม”
จริง ๆ เราก็เห็นกันอยู่ว่า คนที่เกิดมาจนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมือนไม่มีโอกาสอะไรในชีวิตเท่าไหร่นัก แต่ต่อมากลับร่ำรวย ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นมหาเศรษฐีมากมาย (คงไม่ต้องยกตัวอย่างนะครับ เพราะมีเยอะไป) ในทางตรงข้าม บางคนเกิดมาบนกองเงินกองทอง แต่บั้นปลายชีวิตต้องกลายเป็นยาจก หมดเนื้อหมดตัว ติดคุดติดตาราง หรือบางคนเกิดมากลาง ๆ แล้วกว่าจะตายก็ขึ้น ๆ ลง ๆ สลับกันไป ๆ มา
แบบนี้มันมีคำอธิบายไหมครับ? ...เอ้าละ บางคนก็อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า คนเกิดมาจน แล้วต่อมารวย ก็เพราะมีกรรมที่ทำให้ต้องเกิดมาจน ต่อมารวย ก็เพราะมีบุญเก่า วาสนาดี ส่งเสริมให้รวย ในทางตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน เกิดมารวย เพราะวาสนาส่งมาให้เป็นลูกเศรษฐี แต่ก็มีกรรมเก่าทำให้ต้องจนลงไป
แต่ผมไม่มีทางเชื่อแบบนั้นเด็ดขาดครับ
เพราะถ้าคิดง่าย ๆ ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ต่อไปนี้คนเราก็ไม่ต้องทำอะไรแล้วนะครับ นั่ง ๆ นอน ๆ รอบุญรอวาสนา หรือภาวนาอย่าให้กรรมเก่าตามทัน พวกเราเชื่อไหมครับ เพราะคิดแบบนี้แหละ ก็เลยเกิดความเชื่อเรื่องสะเดาะเคราะห์เอย, หาหมอดูเช็คดวง, แก้กรรม, ไหว้พระเก้าวัด, เสาะแสวงหาครูอาจารย์ เจ้าพ่อเจ้าแม่ ฯลฯ เกิดธุรกิจแอบอิงเรื่องบุญเรื่องกรรม รวยกันเป็นแถว ๆ ทำไปทำมา ศาสนาพุทธก็กลายเป็นอะไรไปแล้ว แทนที่จะเป็นการเรียนรู้ตัวเองเพื่อหาสัจธรรม ละกิเลสให้พ้นทุกข์ กลายไปเป็นที่ดูดวง, สะเดาะเคราะห์ ฯลฯ เอานก, ปลา, เต่า ไปทรมานรอให้คนเอาไปปล่อย...
มีวันหนึ่งเพื่อนซื้อลูกปลาไปปล่อยบันไดท่าน้ำหน้าวัด ตอนกำลังเทลูกปลาออกจากถุง พอมันลงไปในแม่น้ำ ปลาใหญ่แถวนั้นพากันมารุมฮุบกินกันจนเวิ้งน้ำนั้นอลหม่านไปหมด กลายเป็นงานเลี้ยงบุฟเฟต์ของปลาแถวนั้นไปเลย
แต่สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อว่า เรื่องกรรมดีกรรมชั่วในอดีต มันส่งผลให้กับเราก็จริง  แต่อีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ “กรรมใหม่” ที่เราสร้างขึ้นในปัจจุบันด้วย
ยิ่งกว่านั้นผมยังเชื่ออีกว่า คนเราทุกคนมี “บุญใหญ่” ส่งมาให้เกิดเป็นคนอยู่ทุกวันนี้เป็นทุนอยู่แล้ว ถ้าจะให้ผมเปรียบเทียบแล้ว ทุกคนที่เกิดเป็นมนุษย์ มี “บุญ” หรือ “กรรมส่วนดี” ส่งมาในอัตราส่วนมากกว่า 99% ส่วนเรื่องของกรรมเก่า หรือที่เรียกว่า “วิบากกรรม” นั้น น่าจะติดมาสักแค่ไม่ถึง 1% เท่านั้นเอง ทำไมผมพูดอย่างนั้นเรามาดูกันนะครับ
ขอยกพระไตรปิฎกมาเล่าให้ฟังนะครับว่า... “ครั้งหนึ่ง พระอานนท์เคยถามพระพุทธเจ้าว่า...โอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์มีมากน้อยแค่ไหน พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ แต่ใช้ปลายนิ้วแตะที่ลิ้นและแตะที่พื้นดิน ก็มีเศษฝุ่นที่ติดปลายนิ้วของพระพุทธองค์ขึ้นมา...นั่นแหละคือโอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์...เทียบกับเศษฝุ่นทั้งหมดบนผืนโลก” หรืออีกครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เปรียบเทียบว่า “สมมติว่ามีเต่าตาบอดอาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก และบนผืนน้ำมีห่วงยางลอยอยู่อย่างไร้ทิศทางอยู่หนึ่งอัน ทุก ๆ หนึ่งร้อยปี เต่าตัวนี้จะว่ายจากใต้ทะเลเพื่อขึ้นมาหายใจ และโอกาสที่เต่าจะโผล่หัวขึ้นมาลอดห่วงยางพอดี...นั่นแหละโอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์”
ทีนี้รู้หรือยังครับว่าโอกาสที่พวกเราจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น มันน้อยนิดแค่ไหน...แสดงว่ากว่าจะเกิดมาได้นั้น ต้องได้เคยสร้างและสั่งสมบุญบารมีมาแล้วมากมายทีเดียว แล้วทีนี้ตอนนี้เราก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เรามี “ชีวิต” เป็นของตัวเองแล้ว เรายังจะใช้ “ชีวิต” แบบ “ฉาบฉวย” อยู่อีกหรือไม่?
        ตอนต่อไป ผมจะยกตัวอย่าง "ชีวิตที่ฉาบฉวย" ตัวจริงที่ผมรู้จักมาเล่าให้ฟังกันครับ


วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ชีวิตไม่ฉาบฉวย (2)

ชีวิต? (ต่อ)

กลับไปอ่านตอน (1)


พวกเรานิยามคำว่า “ชีวิต” ไว้อย่างไรบ้าง?
แล้วตัวผมเองล่ะ อายุห้าสิบกว่าปีนิยามคำว่า “ชีวิต” แล้วหรือยัง?.....อือม์...สำหรับตัวผมเอง จะตอบคำถามว่า “ชีวิตคืออะไร?” ให้กับตัวเองได้ไหม (แบบที่ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองด้วย คือต้องเป็นนิยามที่ตัวเองคิดอย่างนั้นจริง ๆ)
ผมตั้งใจอยู่เหมือนกันว่าจะต้องเขียนเรื่องนี้ไว้ด้วยครับ ก็คือเรื่องของ “ความซื่อสัตย์กับตัวเอง” เพราะจริง ๆ แล้ว ผลดีที่ได้จากการการใช้ทฤษฎี “ชีวิตที่ไม่ฉาบฉวย” นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการ “ซื่อสัตย์กับตัวเอง” เพราะสำหรับผมแล้ว ผมเชื่อว่าทุกชีวิต ในที่สุดแล้วจะมีจุดสำคัญที่สุดของชีวิต อยู่ตรง “ลมหายใจสุดท้าย” เพราะพวกเราทุกคน พอถึงจุดนั้น..เมื่อถึงเวลาที่เรารู้ว่าชีวิตกำลังจะสูญสิ้นลงนั้น จะมีคำตอบสุดท้ายสำหรับตัวเอง คำตอบที่ซื่อสัตย์กับตัวเองที่สุดเลยว่า “เราใช้ชีวิตมาคุ้มค่าหรือไม่?” ถ้าใช่..เราจะไปอย่างสงบ และไปสู่สุขคติ แต่ถ้าไม่..เราจะทุรนทุราย สติขาดสะบั้นถึงขั้นวิกลจริตก่อนตาย และแน่นอน ที่ไปจากนั้นไม่ใช่สุขคติแน่ ๆ (แน่นอน ผมพูดแบบนี้แสดงว่าผมมีความเชิ่อในเรื่อง “ชีวิตหลังความตาย” ด้วย) 
ดังนั้นสำหรับผม..ตอนนี้.. นิยามคำว่า “ชีวิต” ของผมก็คือ “สิ่งที่ผมอ้างเป็นเจ้าของได้...ตั้งแต่ยังไม่เกิด จนกระทั่งตาย แม้ตายไปแล้วผมก็ยังเป็นเจ้าของมันอยู่” (บางท่านต้องแย้งแน่ ๆ เลยว่า "ตายไปแล้ว" ยังจะมีชีวิตอีกหรือ?...ผมว่ามี..ก็ชีวิตหลังความตายไงล่ะ) และภารกิจที่ผมจะต้องทำกับ “ชีวิต” ของผมคือ ทำอย่างไรคำตอบสุดท้ายเมื่อลมหายใจสุดท้ายของผม (ในชาตินี้) จะพาผมไปสู่ที่ที่ผมต้องการจะไป (ในชาติหน้า)? 
ที่ใช้คำว่า “ตอนนี้” เพราะ มันอาจเปลี่ยนไปอีก ผมอาจได้ค้นพบความหมายที่ “ใช่” มากกว่าที่ “ใช่” ในตอนนี้ก็เป็นได้
ชีวิตที่เหลือ ผมจึงจะใช้มันให้หมดไปอย่าง “ฉาบฉวย” ไม่ได้อย่างเด็ดขาด เวลาของผมไม่มากเลย..ไม่ใช่สิ...คิด ๆ ดูแล้ว ผมแทบไม่มีเวลาใช้ชีวิตแบบ “ฉาบฉวย” ได้อีกเลย
นี่คือนิยามคำว่า “ชีวิต” ของผม ...แล้วของท่านล่ะ?
ลองดูซิครับ อย่างที่ผมบอกว่าลองหากระดาษมาเขียนนิยามชีวิตของท่านดู ลองนึกถึงการเจริญเติบโตของชีวิตของเรา ในช่วงเวลาต่าง ๆ เราคิดว่า เราได้นิยามความหมายของชีวิตไว้อย่างไรบ้าง? ตอนเด็ก ๆ เคยคิดเรื่องนี้ไหม? แล้วคิดว่าอย่างไร? เช่นเดียวกับตอนช่วงอายุต่าง ๆ ...ตอนอายุ 16 คิดกับชีวิตอย่างไร?, ตอนอายุ 20, 25, 30, 40 ฯลฯ
ลองทำดูครับ เชื่อผมสักครั้ง ลองทำดู....สิ่งที่ผมอยากให้เราทำดูก็เพราะ บางคนยังไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย แล้วถ้ายังไม่เคยคิดเรื่องแบบนี้ งั้น....ชีวิตของเราที่ผ่านมาก็ “ฉาบฉวย” จริง ๆ แล้วละ 
        แล้วถ้าเราตั้งสมมติฐาตว่า "ชีวิต" มีเฉพาะช่วงเกิด ถึงตาย งั้นผมมีคำถามสำคัญครับว่า "เกิดมาชาติหนึ่ง เราได้มีโอกาส เป็นเจ้าของ อะไรบ้าง?"
        ถึงวันนี้ เรามีอะไรเป็นของตัวเองบ้าง?
        .....ก็มีหลายอย่างไง....บางคนมีที่ดิน มากบ้าง น้อยบ้าง, มีเงิน ทั้งเงินสดและเงินฝากธนาคาร, มีรถ, มีเฟอร์นิเจอร์ ทีวี ตู้เย็น, มีเครื่องประดับเพชรนิลจินดา มีของใช้แพงบ้าง ถูกบ้าง, มีเสื้อผ้า ฯลฯ ทุกอย่างที่มีเหล่านี้ ก็มีตามอัตภาพ, ตามสถานภาพ คนรวยก็มีเยอะหน่อย คนจนก็มีน้อยหน่อย บางคนอาจบอกว่า “มีแต่กางเกงใน” ฯลฯ
            ของพวกนี้ ตามหลัก “อนัตตา” ของพุทธ ท่านว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป (สาธุ.....)
       เอาเป็นว่าความเข้าใจประสาบ้าน ๆ หลายท่านคงจะเห็นด้วยว่า บรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่เราคิดว่าเรา “เป็นเจ้าของ” นั้น แท้ที่จริงมันอาจไม่ใช่
       อย่างเช่นบ้านที่บางคนมีเป็นเจ้าของแล้ว ถ้าบ้านหลังนี้เรายังต้องผ่อนชำระอยู่ มันก็ยังไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง มันยังเป็นของธนาคารอยู่ แต่บางคนผ่อนหมดแล้ว หรือซื้อเงินสด โอนมาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว เราก็ว่าเรา “เป็นเจ้าของ” แล้ว วันดีคืนร้าย มันก็อาจจะไม่ใช่ เป็นต้นว่าอาจเกิดแผ่นดินไหว, ไฟไหม้, ซึนามิ ฯลฯ อยู่ ๆ พังหายไปเลย ผมพูดอย่างนี้บางท่านบอกโอกาสมันเป็นไปได้น้อยอยู่ ผมจะบอกเรื่องโอกาสที่ความเป็นไปได้สูงสุดไหมครับ? เอาว่า 100% ไปเลย (อาจจะล้านเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป) เมื่อเจ้าของตายไป มันก็ต้องโอนไปเป็นของคนอื่นอยู่ดี งั้นของที่เรามี ตอนเราตายเราเอาไปไม่ได้ มันก็แปลว่า ไม่ว่าจะบ้าน, รถ, หรือทรัพย์สินใด ๆ ที่เราคิดว่า “เรามี”, เราเป็น “เจ้าของ” นั้น จริง ๆ สิ่งนอกกายเหล่านี้ เราไม่เคยได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง
       วันนี้เราก็เห็น ๆ อยู่ว่า อยู่ ๆ ตึกหลังที่เคยเป็นห้างฯ ใหญ่อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคืนเดียว มันก็กลายเป็น ซากปรักหักพังเรียบร้อยแล้ว, หรือกรณีเกิดซึนามิในญี่ปุ่น และก็เหตุอีกต่าง ๆ นานา นับประสากับสิ่งของที่เราเคยมี คิดดูนะครับ เสื้อผ้าที่เราเคยใส่เมื่อ 5, 10, 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้มันไปไหน?, รถคันที่เราเคยขับเมื่อ 10-20  ปีที่แล้ว วันนี้มันไปเป็นซากอยู่ที่ไหน?, ทีวี, ตู้เย็น, หนังสือ, โน้ตบุ๊ค, มือถือ, แหวนนาฬิกาสร้อย ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เราเพียง “เคย” ได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ชั่วระยะหนึ่ง แล้วมันก็สลายตัวไป

       นั่นเป็นเรื่องของ “สิ่งของ” ยังมีอื่น ๆ อีก ... พ่อ แม่ ญาติ พี่ น้อง บุตร ภรรยา เพื่อน ฯลฯ เหล่านี้ เราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ จริงอยู่ เรามีแม่ มีพ่อ มีลูก เป็นของตัวเอง แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องเปลี่ยนไป ถึงเวลาหนึ่ง พวกเขาก็ต้องจากไป บางทีเราก็จากพวกเขาไปก่อน งั้น พวกนี้ก็ไม่ใช่ “ของเรา”
       แม่แต่สังขารร่างกายของเราเอง พวกเราเคยรู้ไหมครับว่า เซลล์ในตัวเราเฉลี่ย มีอายุปีเดียวเอง อย่างมากไม่เกิน 2-5 ปี ร่างกายของเราวันนี้ กับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันเป็นคนละร่างครับ ไม่ได้พูดเล่นนะครับ เซลล์ในร่างกายเรามีหลายล้านเซลล์ แต่มันตายทุกวัน แล้วก็เกิดใหม่ทุกวันเช่นเดียวกัน ไม่เกิน 5 ปี เซลล์ส่วนใหญ่ของเราก็ไม่ใช่เซลล์เดิมแล้ว
       สรุปแล้วมองไปรอบ ๆ ตัว ไม่มีอะไรสักอย่างที่ “เป็นของเรา” ไม่มีอะไรสักอย่างที่เราควบคุมมันได้ มันอยากอยู่มันก็อยู่ มันอยากสลายไปมันก็ไป ห้ามมันไม่ได้แม่แต่ร่างกายของเรา แล้วพอเป็นแบบนั้น มันก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ทุกข์ที่เราจะพยายาม “ยึดถือ” ว่ามันเป็นของเรา พยายาม “ยื้อ” ไว้ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็คร่ำครวญ เป็นทุกข์ เป็นกังวล ต่าง ๆ นานา บางคนเป็นบ้าไปเลย เพราะตอนใกล้ ๆ จะตาย ก็พยายามยื้อไว้ ไม่อยากให้แก่ ไม่อยากตาย พอห้ามไม่ได้จริง ๆ ก็ขาดสติ ครูบาอาจารย์ระดับอริยะบุคคลท่านหนึ่งเคยสอนไว้ว่า คนเรามากกว่า 99% ก่อนตาย เสียสติ!!! (ย้ำ 99% จริง ๆ )เพราะความทุกข์ทรมานสุด ๆ ก่อนตาย จริง ๆ ทุกข์จากสังขาร จากโรคภัยใข้เจ็บ ทุกข์จากการรักษาร่างกายไว้ไม่ได้ มันก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว (แต่ฝึกให้ละเวทนาได้นะครับ เขาเรียกฝึก “สติปัฏฐาน” ไว้ค่อยคุยกันทีหลัง) แต่ทุกข์ที่ทำให้เสียสติ ที่หนักกว่าคือ ทุกข์ที่ “ยังไม่อยากตาย” เพราะรู้สึกว่ายังไม่พร้อมที่จะตาย อาการดิ้นรนทุรนทุรายตรงนี้แหละ เป็นผลของความทุกข์ที่ว่านั้น
       แต่มีอย่างน้อยอย่างหนึ่งครับที่ “เราเป็นเจ้าของ” อย่างแท้จริง เรามี “กรรมสิทธิ์” ของเราโดยชอบธรรม ไม่มีใครสามารถเอาไปจากเราได้ (ถ้าเราไม่ยอมเอง) เราเป็น “เจ้าของ” มันตั้งแต่เราเกิด, จนกระทั่งเราตาย สิ่งนั้นคือ “ชีวิต” (ส่วนตัวผมเชื่อว่า เราเป็นเจ้าของ “ชีวิต” ของเรามาตั้งแต่ก่อนเกิด และเราก็ยังเป็นเจ้าของ “ชีวิต” ของเราอยู่แม้ตายไปแล้วก็ตาม
 (หมายเหตุ:บางทีเรายังเป็นเจ้าของจริง ๆ อีกหลายอย่าง ที่ผมนึกออกอีกอย่างคือ "เวลาที่เหลือก่อนตาย" อันนี้ก็เป็นของเรา ซึ่งมันก็สุดแท้แต่เราจะจัดการกับมันอย่างไร...ไว้ผมจะเขียนทีหลังครับ)
       เพราะฉะนั้นเมื่อเรา “เชื่อ” และ “ศรัทธา” ว่า “ชีวิตเป็นของเรา” เราก็จะต้องสามารถวางแผนชีวิต, ควบคุม, ดูแล, จัดการ ฯลฯ ชีวิตของเราเองได้ ประเด็นนี้เองที่หลาย ๆ คนพูดว่า “ชีวิตต้องมีเป้าหมาย” หรือบางคนบอกว่า “ต้องมีแผนการสำหรับชีวิต” นี่แหละครับที่ผมกำลังพยายามจะประกาศว่า...
 ...ถ้ามันมีสิ่งที่เราเป็นเจ้าของได้...คือชีวิตของเราเอง อย่างนั้นตั้งแต่นี้ จงหยุดใช้ชีวิตแบบ “ฉาบฉวย” ได้แล้ว

ชีวิต ไม่ "ฉาบฉวย" (1)




คำนำ
            ผมนั่งคิดอยู่หลายวันว่าอยาก “เขียนหนังสือ” ขึ้นสักเล่ม บังอาจใช้คำว่า “เขียนหนังสือ” เลยแหละ ทั้ง ๆ ที่เกิดมายังไม่เคย “เขียนหนังสือ” เลยสักเล่ม ได้แต่อ่านหนังสือมาแล้วหลายร้อยเล่มตลอดชีวิต (แต่เคยเขียนบทความเล็ก ๆ บ้าง, เรื่องสั้นบ้างฯลฯ  ลงในนิตยสารสมัยเรียนหนังสือ กับนิตยสารของธนาคารสมัยทำงานตอนหนุ่ม ๆ ) และความรู้สึกที่ทำให้อยากเขียนหนังสือ ก็เพราะนั่งคิดถึง “ชีวิต” ของตัวเอง ว่าเท่าที่ได้ “สร้าง” ชีวิต, “รักษา” ชีวิต, “เลี้ยง” ชีวิต และ “ใช้” ชีวิต มาจนอายุปาเข้าไปห้าสิบกว่า อีกไม่กี่ปีก็ 60 แล้ว มันก็น่าจะมีหลาย ๆ อย่างในชีวิตที่เป็นตัวอย่าง สมควรที่จะแบ่งปันให้คนอื่นได้อ่านหรือไม่?  ที่สำคัญคือเขียนแล้วจะมีคนอ่านหรือไม่?  เพราะอุตสาห์ลำบากลำบนเขียนแล้ว ถ้าไม่มีใครอ่านมันก็เสียเวลาเปล่า ๆ
          แต่คิดไปคิดมาผมก็หาข้อสรุปได้ว่า มันคงไม่สำคัญหรอกว่าจะมีใครอ่านหรือเปล่า เอาเป็นว่าผมได้เขียนมันขึ้นมาก็แล้วกัน อย่างน้อยวันที่ผมจากโลกนี้ไป ยังมี “หนังสือเล่มนี้” ไว้เป็นที่ระลึก
            พูดซะโก้ว่า “หนังสือเล่มนี้” จริง ๆ มันมีโอกาสตีพิมพ์เป็นหนังสือหรือเปล่า? ผมคิดว่าคงไม่มีหรอก เพราะไอ้ผมมันไม่ใช่ดาราดัง ๆ ที่พอเขียนเป็น ก็มีหนังสือเป็นของตัวเองกันเกร่อไปหมดด้วยอาศัยความดังเป็นทุนเดิม ช่างเหอะ จะได้พิมพ์หรือไม่ได้พิมพ์ ผมขอเขียนไว้ก่อนก็แล้วกัน (ไม่แน่ ลูกหลานอาจจะเอาออกมาพิมพ์แจกงานศพก็ได้...นี่ไม่ได้พูดเป็นลาง เพราะผมวิปัสสนามีความตายเป็นที่ระลึกตลอดเวลาอยู่แล้ว)
            แล้วที่ว่าอยากเขียนหนังสือสักเล่มนี่นะ ชื่อหนังสือมันก็ออกมาในใจว่าน่าจะเป็นเรื่องของความฉาบฉวย ที่แต่ละคน (ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) มันใช้ “ความฉาบฉวย” เป็นที่ตั้งอยู่ตลอด 95% ของเวลาที่ใช้ในชีวิต และก็เพราะ “ชีวิตที่ฉาบฉวย” ก็ทำให้คน “สร้างชีวิตไม่เสร็จ” สักที แล้วก็ตายไป
            แต่จริง ๆ ผมก็ไม่ใช่คนที่จะถือว่า “สำเร็จ” อะไรในชีวิตมากมาย จริง ๆ ก็ยังเป็นคนธรรมดา ๆ อยู่ แล้วก็อยู่ในช่วงเวลาสร้างชีวิต ด้วยซ้ำ เพียงแต่มันกำลังจะพ้นมาแล้ว ออกมาเป็นคนที่สร้างชีวิตเกือบเสร็จ เวลาที่เหลือจะได้ “ใช้ชีวิต” ก่อนตาย เลยอยากใช้เวลาที่ว่าง ๆ ที่พอมีระหว่างนี้ รวบรวมประสบการณ์ที่ผ่านมา อยากเล่าให้ฟังถึงในบางช่วงเวลาที่ผมใช้ไปแบบ “ฉาบฉวย” เป็นเหตุให้ประสบปัญหาเกือบหายนะได้อย่างไร และในช่วงเวลาที่ “ไม่ฉาบฉวย” ทำให้ก้าวขึ้นมาอยู่บนถนนเส้นเดียวกับคนสร้างชีวิตได้สำเร็จได้อย่างไรเช่นเดียวกัน
            แล้วก็ต้องขอโทษด้วยที่การตกผลึกเล็ก ๆ ทางแนวคิดที่ผมพอเริ่มจะมีกับเขา แล้วเวลาที่จะเล่าให้ฟัง ก็คงต้องคุยออกมาบ้างว่าคิดยังไง? ทำยังไง? อาจจะเหมือนคนขี้โม้บ้าง ก็หวังว่าจะได้รับการอภัย

ชีวิต?
            บทนี้ว่าด้วยเรื่องของ “ชีวิต” ที่ผมเอาเครื่องหมายคำถาม “?” มาใส่ก็เพราะมันมีประเด็นเกี่ยวกับการถาม
            ก่อนอื่นเรามาดูความหมายกัน
            คำว่า “ฉาบฉวย” ตามพจนานุกรมอาจแปลความหมายได้หลายอย่าง เช่น  ชั่วครั้งชั่วคราวขอไปทีไม่จริงจัง
            คำว่า “ชีวิต” อันนี้ต้องไปหาความหมายในพจนานุกรมหรือเปล่า ผมว่าผมคงไม่ต้องถึงกับไปหาความหมายในพจนานุกรมหรอกนะครับว่า “ชีวิต” นี่มันมีความหมายว่าไง? แต่เอ๊ะ พวกเราเคยถาม หรือเคยคิดกันไหมครับว่า “ชีวิต คืออะไร?”
            อือม์....ผมเองก็ไม่เคยคิดประเด็นนี้นะครับ
            “ชีวิตแปลว่าอะไร?” นี่เป็นคำถามง่าย ๆ แต่เวลาตอบมันยาก เอ้า...พวกเราลองเอากระดาษมาแผ่นหนึ่งแล้วเขียนคำตอบลองดูว่า “ชีวิตแปลว่าอะไร?”
            แล้วคำถามนี้ล่ะ “ชีวิต..คืออะไร?”
            จริง ๆ ดูเหมือนถ้าเราถามว่า “ชีวิต แปลว่าอะไร?” มันก็เหมือนเป็นคำถามง่าย ๆ ถ้าตอบไม่ได้ ก็แค่ไปเปิดพจนานุกรมฯ ซึ่งความหมายของ “ชีวิต” ในพจนานุกรมฯ ก็คือ “ความเป็นอยู่” แปลอีกทีแบบบ้าน ๆ ก็คือ “ยังอยู่แบบเป็น ๆ” ก็คงได้ (มั้ง) แปลอีกทีก็อาจจะได้ว่า “ชีวิต” แปลว่าช่วงเวลาของเรา เริ่มตั้งแต่เกิด จนตาย”
            แต่พอเราจะตั้งคำถามว่า “ชีวิต..คืออะไร?” มันก็ต้องมีอาการ “อึ้งกิน” ขึ้นมาก่อน แล้วเวลาจะตอบมันก็จะสะเปะสะปะตอบกันไปคนละอย่างสองอย่าง แม้คนเดียวกันตอบ ก็วันนี้ตอบอย่าง วันหน้าตอบอีกอย่าง...ซะงั้น !!!
            เข้าไปดูเขาถามเขาตอบกันในอินเตอร์เน็ท ลองดูไหมครับว่าแต่ละคนจะตอบกันว่าอย่างไร?
            ....ชีวิตคือการดิ้นรน ชีวิตคือการต่อสู้ ชีวิตคือการเรียนรู้ ชีวิตคือการเดินทาง ชีวิตก็คือเรา เราก็คือชีวิต...  อันนี้แบบปรัชญา
            “...ชีวิต คือ ธรรมชาติ ประกอบด้วยธาตุ มีจิตมาอาศัย ชิวิตตั้งอยู่ในหลักกฏไตยลักษณ์ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปในที่สุด... อันนี้แบบพุทธ ๆ
            ...ชีวิตคือ ทุกสิ่งบนโลกที่มีลมหายใจ... อันนี้ผมเถียงว่า ต้นไม้ไม่มีลมหายใจก็มีชิวิต
            ...ชีวิต คือการรอคอยใครสักคนที่ใช่...” โรแมนติกครับอันนี้
            ...ชีวิต คือ ความเป็นอยู่ เพื่อรับบุญ และบาปที่สร้างขึ้น...คนนี้น่าจะชอบสวดมนต์
            ...ชีวิต คือ สิ่งที่ไม่มีตัวตน หรือ ความแน่นอน ที่ไม่อาจอธิบายได้ แต่ ชีวิตต้องการการการเติมเต็มจากจากภายนอกด้วย...” งงไหมครับ?
            ...ผมรู้คำตอบ ถ้าคุณอยากรู้จริงๆ ว่า "ชีวิตคืออะไร" ผมมีคำตอบให้คุณ โดยคำตอบนั้นไม่ได้มาจากตัวผม แต่ที่แน่ๆ ชีวิตไม่ใช่การต่อสู้ ชีวิตไม่ใช่การเรียนรู้ ชีวิตไม่ใช่การชดใช้กรรม ชีวิตไม่ใช่ความทุกข์ ถ้าคุณต้องการคำตอบจริงๆ และคำตอบมีคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว...เขาบอกแค่นี้จริง ๆ ครับ แล้วมันคืออะไรล่ะ?
            ...ชีวิตก็คือการชดใช้บาปที่สร้างไว้ชาติที่แล้ว...” นี่ก็แนวพุทธเรา
          ...ชีวิตคือความเป็นอยู่และจะเป็นไปตามวิบากกรรม...” พุทธเหมือนกัน
          ...ชีวิตคือความไม่แน่นอน...” อันนี้ได้ยินบ่อย
...ชีวิตคือพวกเราพวกเราก็คือชีวิตทำสิ่งถูกผิดก็คือ ชีวิตของพวกเรา...ว่าเป็นกลอนเลย อันนี้ว่าง ๆ ผมจะเอาไปแต่งเป็นเพลง
...ชีวิตคือการหาความสุขให้กับตนองจนกว่าจะถึงลมหายใจ สุดท้าย...”  แนวเฮฮานะครับนี่
...ชีวิต คือ การเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม...
...ชีวิต คือลมหายใจ...” ง่ายดีครับแบบนี้
...ชีวิต คือการเดินทางตามกาลเวลาเหมือนนาฬิกาที่เดินไม่มีวันหยุดจนกว่าจะ หมดถ่าน...” คม..คิดได้ไง?
...ชีวิตที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ นั่นคือชีวิตที่สมบูรณ์...
...ชีวิต คือ การต่อสู้กับตัวเอง...
...ชีวิตคือทุกสิ่งทุกอย่าง...
...ชีวิตคือการปล่อย ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะความพยายาม ความรู้สึกว่าไม่ได้เรื่อง ความรู้สึกว่าช่างเสียเวลาจริงๆ ความรู้สึกพวกนี้แหละที่มันชอบทำให้เราต้องคอยบีบคั้นตัวเอง...” คนคิดแบบนี้พวกเราคิดว่า สุดท้ายชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร?
...ชีวิต คือชีวิต มีทั้งทุกข์ และสุข เมื่อเราเจอความทุกข์ ทั้งร่างกายและจิตใจ เราต้องอยู่และแก้ไขมันไป ให้ดีที่สุด ถ้ามันเจอแต่สุข เราคงไม่รู้จักทุกข์ และในโลกแห่งความเป็นจริง เราจะมีความทุกข์มากกว่า แล้วเราต้องทำยังไง เราต้องเรียนรู้ การอยู่ในโลกนี้ให้ได้ โดยลดทุกข์ให้มากที่สุด จะได้มีความสุขมากขี้น...” อันนี้ต้องหาเวทีให้ครับ จะได้ปราศัยได้เต็มที่
...ชีวิตคือ***และ***มา***กัน...” เซ็นเซอร์ครับ
...ชีวิตคือความฝัน ความตายคือ ความจริง แต่เขาให้เราเกิดมาเพื่อไร น่าจะเป็นคำถามที่ตรงประเด็นกว่า... น่านซิ แล้วจะให้ไปถามใครล่ะ?
...เดี๋ยวเราก็ตื่น ตอนเราตาย แล้วจะรู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เวรกรรมนะ เขาไม่บอกว่าให้เราเกิดมาทำไม...” น่าคิดนะครับความคิดนี้
...ชีวิตคือความรัก ชีวิตที่ปราศจากความรัก ไม่ใช่ชีวิต ความรักคืออาหารใจ ความรักสร้างชีวิต ความรักหล่อเลี้ยงจิตใจมนุษย์...” เดี๋ยวเหอะ เดี๋ยวก็ต้องมาถามกันอีกว่า “ความรักคืออะไร?
...ชีวิต (Life) คือ งานเขียนภาพของจิตรกร ที่บรรจงวาดภาพด้วยความบรรจง ประณีต แทรก จิต วิญญาน ไว้ในภาพนี้ นับตั้งแต่แรกเริ่ม พ่อ *** เป็นผู้เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ๆๆๆ จากนั้น เจ้าตัวก็ เป็นผู้วาดต่อ ปีที่ 1 - จนถึงปีที่จบสิ้น ภาพบางภาพ มีสังคมกล่าวขานถึง ชั่วนิรันดร์ แต่สำหรับชาวพุทธ.... ภาพส่วนใหญ่ ตอนเริ่มต้น เส้นของภู่กัน อ่อนไหว ผสมสีแข็งไป เส้นขาดตอน ตอนกลาง ๆ ๆ เส้น สี การวาดเส้นสาย ต่าง ๆ ดูดี ให้อารมณ์ชัดเจน ในตอนท้าย ให้แสงที่อ่อนโยน แช่มชื่น แม้จะขาดความมั่นใจไปบ้าง แต่ ยังดี ที่ ใส่สีขาวเข้าไปในจิต ก่อนจะลงสี. ดังนั้น ตอนหลัง ๆ ๆ จึง ดู เหมือนภาพ จะว่างเปล่า... แต่เมื่อเพ่งดู จะเห็นว่า เป็น สีชาว มุก ... อนิจจา วัตสังขารา..นี่คือชีวิต ตั้งแต่เริ่ม จน สิ้นสุด...” อันนี้ผมอ่านไปอ่านมา คนตอบพูดถึงนิพพานแน่ ๆ เลย
...ชีวิตก็คือชีวิต...จบ...” อันนี้ขอปิดท้ายก็แล้วกัน
(ยังไม่จบบทที่ 1 ครับ) วันนี้อ่านตอนแรกไปก่อนครับ เดี๋ยวตอนที่สองมาแล้วจะมาใส่ Link ให้ สวัสดี..

อ่านต่อ